บทความก่อนผมพูดถึงเรื่องผ่อนทองรูปพรรณไป วันนี้ผมจะพูดถึงการออมทองบ้างนะครับ
การออมทองก็เหมือนการทยอยซื้อทองคำแท่ง ซื้อทีละนิ๊ดดด…นิด แทบจะเป็นทองคำเปลว แต่อาศัยว่าซื้ออย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ใช้เวลาหลายเดือนพอสมควรในการสะสมน้ำหนักทองไปเรื่อยๆ แต่ไม่นานเกินรอก็กลายเป็นสลึงๆ บาทๆ ได้เหมือนกัน (ผมใช้วิธีเก็บทองแทนการเก็บเงิน ซึ่งก็ทำให้ผมเก็บเงินอยู่ไม่รั่วไหลออกไปใช้ฟุ่มเฟือย ซึ่งก็ได้ผลมากๆ ครับ)
สำหรับคนที่ไม่ได้ชื่นชอบหรืออยากได้ทองรูปพรรณ เพียงแต่อยากมีทองเก็บเพื่อลงทุนยาวๆ การออมทอง (ซึ่งผลลัพท์ออกมาจะได้เป็นทองคำแท่ง ไม่ใช่พวกสร้อย แหวน หรือทองรูปพรรณแบบอื่นๆ) ดูน่าจะเหมาะกว่า เพราะราคาทองแท่งขายออกและค่าแรงก็ถูกกว่าทองรูปพรรณ แถมเวลาขายคืนร้านทองยังได้ราคารับซื้อคืนที่สูงกว่าด้วย
ลองดูตัวอย่างราคาของทองคำ 2 ชนิดนี้ในภาพด้านล่างครับ

การออมทองเหมาะกับคนที่ไม่ค่อยมีวินัยในการออมอย่างร้ายกาจอย่างผม
เพราะบริษัทผู้ให้บริการโปรแกรมออมทอง (ที่ดังๆ ก็มีอยู่ 2 ที่คือที่ออสสิริสกับฮั่วเซ่งเฮง) จะใช้วิธีตัดเงินจากบัญชีเงินฝากธนาคารของเราอัตโนมัติตั้งแต่ต้นเดือน
เรียกว่าเงินเดือนออกปุ๊บวันต่อมาตัดปั๊บ หมดสิทธิ์ผลัดวันประกันพรุ่ง หรือให้เวลาเราเอาเงินไปใช้สุรุ่ยสุร่ายจนหมดซะก่อนที่จะได้เก็บออม (ผมมีเงินไปเที่ยวต่างประเทศกะเค้าได้บ้าง มีเงินเก็บไว้ใช้ยามฉุกเฉิน ก็เพราะเก็บไว้กับโปรแกรมออมทองนี่แหละครับ ขืนเก็บเป็นเงินสดไว้ในบัญชีมีหวังหมดไปทุกเดือน)
ซึ่งโปรแกรมออมทองก็ไม่ได้ใช้เงินเริ่มต้นอะไรมากมาย แค่เดือนละ 1,000 บาทก็ออมทองได้ คิดซะว่าเก็บตังค์ที่เคยซื้อกาแฟกินแก้วละ 40-50 บาทในแต่ละวันไปออมทองดีกว่า (แล้วกินกาแฟฟรีของออฟฟิสแทน อิอิ)

แล้วออมทองนี่มันต่างกับการผ่อนทองยังใง
คนที่เคยอ่านบทความที่แล้วเรื่องผ่อนทอง จะเห็นได้ว่าการผ่อนทอง มี 2 แบบคือแบบล้อคราคาเต็มของมูลค่าสินค้าไว้ก่อนตั้งแต่วันแรกแล้วผ่อนไปจนครบ
หรืออีกแบบก็คือส่งเงินเข้าไปเรื่อยๆ ก่อน ยังไม่มีการล้อคราคา ล้อคน้ำหนัก รอจนเงินสะสมมีพอ ถึงราคาที่ซื้อของชิ้นที่ต้องการได้ ค่อยล้อคราคา+รับทอง
แต่การออมทองคือซื้อทองเลย
ถ้าของออสสิริสจะเอาเงินที่เราออมมาเฉลี่ยเป็นเงินออมต่อวัน ถ้าออมเดือนละ 1,000 ก็ตกประมาณวันละ 50 บาท ก็คือซื้อทองทุกวันด้วยเงินประมาณ 50 บาท ไม่สนใจว่าทองจะบาทละเท่าไหร่ ซื้อได้น้ำหนักแค่ไหนก็แค่นั้น (ถ้าทองบาทละ 20,000 ก็ได้ทองประมาณวันละ 0.0025 บาท)
ซื้อจนครบทุกวัน พอสิ้นเดือนก็รวมน้ำหนักทองมาสรุปให้เราว่าตกลงเดือนนี้ได้ทองไปทั้งหมดน้ำหนักเท่าไหร่จากเงิน 1,000 บาท
ถ้าของฮั่วเซ่งเฮงจะซื้อวันเดียว คือวันทำการที่ 2 ของทุกเดือน ถ้าเราออมเดือนละ 1,000 ก็คือซื้อทองทีเดียวไปเลย 1,000 บาทในวันทำการที่ 2 ของเดือน ไม่สนใจอีกเช่นกันว่าทองจะบาทละเท่าไหร่ ซื้อได้น้ำหนักแค่ไหนก็แค่นั้นเหมือนกัน
ภาพด้านล่างนี้เป็นการออมทองในแบบของออสสิริสครับ



การออมทองเน้นสร้างวินัยอย่างไร
ก็คือนอกจากจะตัดเงินอัตโนมัติทุกต้นเดือนแล้ว ยังซื้อให้อัตโนมัติด้วย ทำให้เราตัดเรื่องอาการลังเล เลือกราคา ประเภทรอถูกกว่านี้แล้วค่อยซื้อ ส่วนมากไม่ได้ซื้อหรอกครับ ไปได้ซื้อเอาตอนแพง หรือไม่ก็ใช้เงินหมดซะก่อน
แต่ออมทองนี่ตัดเลย ซื้อเลย มีทองเลยทุกเดือน
แล้วเราจะได้ทองตอนไหน
ทั้ง 2 ที่ให้เราเบิกทองได้เมื่อเรามีน้ำหนักทองสะสมถึง 0.25 บาทหรือ 1 สลึงเป็นต้นไปครับ สามารถแจ้งขอรับทองคำแท่งออกมาได้เลย จะรับได้เมื่อครบทุก 0.25, 0.50, 0.75, 1.00 บาท หรือง่ายๆ คือต้องลงท้ายด้วย .25, .50, .75 หรือ .00 เช่น 1.25 บาท แบบนี้รับได้ แต่ถ้า 1.10 แบบนี้ไม่ได้ครับ จะรับได้เต็มที่ก็คือ 1.00 บาทครับ
แต่ช่วงหลังนี้ออสสิริสให้รับทองขนาดพิเศษได้ คือทองคำแท่ง 1 กรัมได้ด้วย แถมยังส่งไปรษณีย์แบบมีประกันให้เราฟรีทั่วประเทศด้วยนะครับ (ทองคำแท่ง 1 กรัม เล็กกว่า 1 สลึงเสียอีก ถ้าเทียบน้ำหนักโดยประมาณแล้วก็ใกล้เคียงครึ่ง-ของ-ครึ่งสลึง หรือ 0.65599 บาทครับ)
ถ้าขอรับทองขนาดเล็กกว่าแท่ง 5 บาทจะมีค่าบล็อคตามขนาดทองที่เราขอรับ แต่ก็ไม่มากเท่าค่ากำเหน็จทองรูปพรรณ เช่น ทองแท่ง 1 บาทมีค่าบล็อคแค่ประมาณแท่งละ 150 บาทเท่านั้น ส่วนการขอรับทองคำแท่ง 5 บาทจะไม่ต้องเสียค่าบล็อคครับ
แล้วที่ผมชอบมากก็คือเค้าให้เราขายทองที่ออมอยู่ได้หากเราต้องการใช้เงิน โดยไม่ถือเป็นการปิดบัญชีการออม แล้วก็ไม่มีค่าธรรมเนียมในการขายทองแต่อย่างใด
วันนี้ราคารับซื้อบาทละเท่าไหร่ก็ได้ราคาเท่านั้น อีกสองวันถัดไปก็ได้รับเงินโอนกลับเข้าบัญชี
อย่างที่บอกว่าผมเก็บทองแทนเก็บเงิน การถอนออกไม่ง่ายไม่ยากเกินไป ไม่มีค่าธรรมเนียมแบบนี้ก็เข้าทางผมครับ
ที่ออสสิริสน้ำหนักที่จะขอขายได้ก็เหมือนการขอรับทองก็คือต้องลงท้ายด้วย .25, .50, .75 หรือ .00 เช่นกัน ทองส่วนที่เหลือก็ออมต่อไปได้ครับ
ส่วนถ้าเป็นที่ฮั่วเซ่งเฮงสามารถขายทองคืนได้ทั้งจำนวน
แล้วมันต่างอะไรกับการกำเงินก้อนไปซื้อทองทีเดียวไปเลยเป็นบาทๆ
ส่วนตัวผมแล้วเหตุผลที่ผมเลือกออมทองนอกจากนิสัยที่เก็บเงินไม่ค่อยอยู่แล้ว (รอเก็บเงินครบ 20,000 กว่าแล้วค่อยไปซื้อทองเป็นบาทๆ ก็ไม่เคยจะได้ซื้อหรอกครับ เงินหมดซะก่อน) ผมไม่อยากมานั่งเดาราคาว่าจะซื้อวันไหนดี ก็เลยซื้อมันซะทุกเดือน ซื้อมันทุกวันนี่แหละ
ช่วงไหนทองราคาลง ทองถูก เงิน 1,000 บาทก็ซื้อทองได้มากหน่อย ช่วงไหนทองราคาขึ้น ทองแพง เงิน 1,000 บาทเท่าเดิมก็ซื้อทองได้น้อยหน่อย
ทำแบบนี้ระยะยาวเราจะได้ต้นทุนทองเท่ากับราคาเฉลี่ยตามทฤษฎีการลงทุนแบบ Dollar cost averaging แต่ผมไม่ค่อยสนใจเรื่องต้นทุน กำไร ขาดทุน หรอกครับ สำหรับผมแล้ว มีทองเก็บ=มีเงินเก็บก็พอแล้ว
ส่วนเรื่องออมๆ ไปแล้วราคาทองจะลง จะเหลือเงินน้อยกว่าที่ลงไปเริ่มแรก ส่วนตัวผมนะ เหลือน้อยลงนิดหน่อยก็ยังดีกว่าเหลือ 0 มีเงินเหลือเก็บก็ถือว่าโชคดีชั้นที่ 1 ถ้าทองขึ้นพอมีกำไรก็ถือว่าโชคดีต่อที่ 2 ครับ
แต่ถ้าใครอดคิดเรื่องกำไรขาดทุนไม่ได้ หรือคนชอบหุ้นก็บอกว่าทองคำไม่มีผลตอบแทนปันผลออกมาระหว่างทางที่ถือมั่งล่ะ ซึ่งอันนี้ผมก็ไม่เถียง เพราะมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ
แต่ผมอยากให้ลองอ่านพวกเรื่องเงินเฟ้อกับพวกวิกฤติการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมาของโลกนี้ ว่าทองคำได้ทำหน้าที่ของมันอย่างไร
วันนี้ยังไม่เกิดวิกฤติเรามักไม่ค่อยนึกถึงทองคำ สะสมติดปลายนวมไว้นิดหน่อย เมื่อเกิดวิกฤติ (ซึ่งมันเกิดแน่ๆ แค่เราไม่รู้ว่าจะเกิดเมื่อไหร่ อาจจะเกิดเมื่อเราเกษียณไปแล้วก็ได้) คุณจะรักการสะสมทองคำเพราะคุณค่าของทองคำจริงๆ มากกว่าสนใจการขึ้นๆ ลงๆ ในระยะสั้นๆ ของราคาทองคำครับ
ถ้าใครสนใจการออมทองของ 2 ที่ที่กล่าวมา สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากลิ้งค์ด้านล่างเหล่านี้ครับ
รายละเอียดออมทองออสสิริส คลิ๊กที่นี่
รายละเอียดออมทองฮั่วเซ่งเฮง คลิ๊กที่นี่